วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

ข้อสังเกตของการวิจัยและพัฒนา R&D

ข้อสังเกตของการวิจัยและพัฒนา R&D


การวิจัยและพัฒนา (The Research and Development) เป็นลักษณะหนึ่งของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ที่ใช้กระบวนการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ มุ่งพัฒนาทางเลือกหรือวิธีการใหม่ๆ เพื่อใช้ในการยกระดับคุณภาพงานหรือคุณภาพชีวิต
ข้อสังเกตของการวิจัย R&D
1.ปัญหาการวิจัย R&D
        ปัญหาการวิจัยของ R&D ต้องตอบสนองความต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มี 2 ลักษณะ คือ ต้องการแก้ปัญหา ต้องการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ

ตัวอย่างการเขียนปัญหาวิจัย
        1. สิ่งใดจะช่วยให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ดีขึ้น
        2. รูปแบบใดที่สามารถพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียนได้ดี
        3. เครื่องมือใดทำให้ผู้ป่วยมีความเจ็บน้อยลง
        4 . อะไรทำให้องค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
        5. รูปแบบใดที่เหมาะสมกับสภาพการจัดการศึกษาในปัจจุบัน
        6. รูปแบบการบริหารใดที่ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ปรัชญาของ R&D คือ Need หมายถึงความต้องการ สิ่งที่ได้จาก R&D คือ นวัตกรรม



2.การตั้งชื่อเรื่องวิจัย R&D
   หลักการตั้งชื่อสำหรับวิจัยและพัฒนาจะความแตกต่างจากวิจัยประเภทอื่น ๆ และมีหลักในการตั้งชื่อ ดังนี้
        1.นิยมตั้งเป็นประโยคบอกเล่า
        2.มีคำว่า "พัฒนา"อยู่ช่วงต้นของประโยค
        3.อาจมี หรือไม่มีคำว่า
"
วิจัย" อยู่ที่ชื่อเรื่องก็ได้
        4.ปัญหาที่ต้องการวิจัยอยู่ช่วงต้นของประโยค
        5.กลุ่มเป้าหมายอยู่ช่วงกลางของประโยค
        6. ถ้าส่วนท้ายของประโยคบ่งบอกสถานที่ งานวิจัยนั้นจะใช้ได้เฉพาะพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น แต่ถ้าไม่ได้ระบุสถานที่ จะใช้ได้ทุกที่เป็นการเปิดกว้าง



ตัวอย่างชื่อวิจัย R&D
        - การวิจัยและพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในภาคกลาง
        - การพัฒนาระบบการสร้างสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
        - การพัฒนารูปแบบการสอนทักษะชีวิตนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น


------------------------------------------------------------------------------


ข้อสังเกตชื่อเรื่องของวิจัย R&D แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนแรก จะบ่งบอกถึงความต้องการของผู้วิจัย ส่วนที่สองจะบ่งบอก
ถึงนวัตกรรมของวิจัย และส่วนสุดท้ายบ่งบอกถึงเป้าหมายว่าทำวิจัยกับใคร มีกระบวนการอย่างไร


3.การเขียนวัตถุประสงค์ของ R&D
   การเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยและพัฒนามีหลักในการเขียนดังนี้
        1.นิยมเขียนเป็นข้อ ๆ (มากกว่า 1 ข้อ)
        2.ขึ้นต้นด้วยคำว่า "เพื่อ"
        3.เขียนเรียงลำดับข้อให้เป็นไปตามวิธีวิจัยที่ใช้
        4.ส่วนแรกของประโยคควรเป็นการวิจัย แล้วตามด้วยการพัฒนา การประเมินสิ่งที่ได้จากการวิจัยหรือประเมินผลการใช้นวัตกรรม และมีการขยายผลสิ่งที่ได้


ตัวอย่างการเขียนวัตถุประสงค์ของ R&D
        1.เพื่อศึกษาระบบการสร้างสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
        2.เพื่อพัฒนาระบบการสร้างสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
        3.เพื่อประเมินการใช้ระบบการสร้างสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
        4.เพื่อศึกษาและขยายผลการใช้ระบบการสร้างสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ


4.ตัวแปร R&D
วิธีแบ่งตัวแปรที่นิยมกันมากที่สุดคือแบ่งเป็นตามลักษณะการใช้ ดังนี้
        1 ตัวแปรต้น (Independent Variable) หมายถึงคุณลักษณะที่เกิดก่อน หรือเป็นสาเหตุของตัวแปรตาม หรืออาจจะเรียกว่า ตัวแปรอิสระ สามารถจำแนกได้เป็น 2 แบบ คือ ตัวแปรอิสระที่สามารถจัดกระทำได้ (Active Variable) และตัวแปรอิสระที่ไม่สามารถจัดกระทำได้(Attribute Variable) โดย ตัวแปรอิสระทั้ง 2 ชนิดเป็น ตัวแปรสาเหตุเช่นเดียวกัน แต่แตกต่างกัน คือตัวแปรอิสระที่ไม่สามารถจัดกระทำได้ ผู้วิจัยเป็นเพียงผู้เลือกว่ากลุ่มใดมีลักษณะอย่างไร แต่ไม่สามารถสร้างลักษณะนั้นขึ้นมา ในขณะที่ตัวแปรอิสระที่สามารถจัดกระทำได้ ผู้วิจัยสามารถสร้างลักษณะนั้นขึ้นมาได้

        2 ตัวแปรตาม (Dependent Variable) หมายถึง คุณลักษณะที่คาดว่าจะได้รับ หรือเป็นผลที่ได้รับจากตัวแปรอิสระ ตัวอย่างเช่น การวิจัยที่ศึกษาอายุของผู้สอนและสภาพของห้องเรียนว่ามีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือไม่ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ตัวแปรตามได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
        3 ตัวแปรที่มีผลกระทบต่อข้อสรุปของการวิจัย (Confounding Variable) หมายถึง ตัวแปรที่มีผลกระทบต่อการสรุปความเป็นสาเหตุของตัวแปรต้นที่มีต่อตัวแปรตาม จำแนกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ             1) ตัวแปรแทรกซ้อน (Extraneous Variable) เป็นตัวแปรที่มีผลต่อตัวแปรตามเช่นเดียวกับตัวแปรอิสระ แต่เป็นสิ่งที่ผู้วิจัยไม่ได้สนใจที่จะศึกษา ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุม ไม่เช่นนั้นตัวแปรแทรกซ้อนอาจทำให้ผลที่ศึกษาไม่ได้ข้อสรุปอย่างที่สรุปไว้ก็ได้ ทำให้ผลที่ได้คาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง             2) ตัวแปรสอดแทรก (Intervening Variable) เป็นตัวแปรที่สอดแทรกอยู่ระหว่างตัวแปรต้นและตัวแปรตาม


        โดยทั่วไปแล้ว การแยกตัวแปรอิสระออกจากตัวแปรตาม มีหลักง่าย ๆ ดังนี้


        1. ถ้าตัวแปรใดเกิดก่อน ให้ถือว่าตัวแปรนั้นเป็นตัวแปรอิสระ ส่วนตัวแปรที่เกิดภายหลังเรียกตัวแปรตาม เช่น เพศ กับ ระดับการศึกษาจะต้องถือว่า เพศ เป็นตัวแปรอิสระ (เพราะเกิดก่อน) ระดับการศึกษาเป็นตัวแปรตาม
        2. ถ้าตัวแปรใดเป็นสาเหตุของอีกตัวแปรหนึ่ง ตัวแปรนั้นถือว่าเป็นตัวแปรอิสระ ส่วนตัวแปรที่เป็นผลนั้นถือว่าเป็นตัวแปรตาม


ตัวแปรต้น ตัวแปรตาม ในงานวิจัยและพัฒนา
        ในงานวิจัยและพัฒนาทางการศึกษา ตัวแปรต้น (Independent Variable) คือ ตัวนวัตกรรมหรือปฏิบัติการ (Treatment) ที่นักวิจัยให้กับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งอาจหมายถึง สื่อ/ ชุดสื่อ หรือวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการศึกษา ส่วนตัวแปรตาม คือ ตัวแปรที่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการใส่ปฏิบัติการ เช่น ความรู้ ความพอใจ เจตคติ ทักษะ หรือสภาพการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นต้น


สรุปตัวแปรใน R&D
        -ในงานวิจัย R&D ไม่นิยมเขียนตัวแปรแยก ตัวแปรต้น กับตัวแปรตาม
        -จะเขียนตัวแปรไปตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย
        -ไม่ระบุว่ามีตัวแปรกี่ตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการรีวิวในบทที่ 2



5.กรอบแนวความคิดในการวิจัย (Conceptual Framework)
        การนำเสนอภาพรวมๆ ของงานวิจัยที่ผู้วิจัยจะทำโดยกำหนดออกมาให้เห็นรูปธรรมชัดเจน จากการศึกษาวิเคราะห์เอกสารตำรา ทฤษฎี ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุม แล้วนำเสนอหรือสรุปเป็นภาพรวมให้ชัดเจนให้ง่ายต่อความเข้าใจในปัญหาและวิธีการวิจัยเป็นกรอบของการวิจัย ด้านเนื้อหาสาระ ประกอบด้วย ตัวแปร และการระบุความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร


การเสนอกรอบแนวความคิด สามารถทำได้ 3 รูปแบบ คือ
        1. แบบพรรณนาหรือบรรยาย เป็นการเขียนบรรยายเพื่อให้เห็นว่า - ในการวิจัยนี้มีตัวแปรอะไรบ้างที่สำคัญเกี่ยวข้องกับปัญหาหรือประเด็นของการวิจัย
            -ตัวแปรเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับตัวแปรตามอย่างไร
            -มีเหตุผลหรือทฤษฎีอะไรมาสนับสนุน
        2. แบบแผนภาพ
            -แผนภาพที่แตกต่างกันช่วยให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นว่าผู้วิจัยมีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร

            - ผู้วิจัยที่มีตัวแปรเดียวกันจำนวนเท่ากันอาจมีแนวความคิดแตกต่างกัน

         3. การบรรยายและนำเสนอสรุปเป็นแผนภาพ
หลักการในการเลือกกรอบแนวความคิดในการวิจัย
        1.ความตรงประเด็น พิจารณาได้จากเนื้อหาสาระของตัวแปรและระเบียบวิธีที่ใช้ในการศึกษา
        2.ความง่ายและไม่สลับซับซ้อน ควรเลือกทฤษฎีที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่ต้องการศึกษาได้ จำนวนตัวแปรและรูป แบบของความ สัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่มีอยู่ในทฤษฎีไม่ซับซ้อน
        3.ความสอดคล้องกับความสนใจ เนื้อหาสาระเกี่ยวกับตัวแปรหรือความ สัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสอดคล้องกับความสนใจของผู้วิจัย
        4.ความมีประโยชน์เชิงนโยบาย คำนึงถึงประโยชน์ทางด้านนโยบายหรือการพัฒนาสังคม การศึกษา ผู้วิจัยจึงควรเลือกตัวแปรที่เกี่ยวข้อง


6.การทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง
        เป็นการสืบค้นข้อมูลในรูปแบบต่างๆ มีการวางกรอบทบทวนเอกสารไว้ก่อน จะทำให้ไม่หลงทิศทาง และสามารถรวบรวมเอกสารได้ครบถ้วนและตรงกับงานวิจัยที่ทำ
เอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย หมายถึง ตำรา หนังสือ เอกสารอ้างอิง รายงานการวิจัย บทคัดย่อ การวิจัย วารสาร นิตยสาร ฯลฯ ที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องหรือสอดคล้องกับเรื่องที่วิจัย

หลักเกณฑ์ในการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
        1.แสวงหาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยให้มากที่สุด ศึกษาเนื้อหาสาระของทฤษฎี แนวคิด หลักการที่เกี่ยวข้องให้มาก
        2.พิจารณาว่าเอกสารนั้นมีความทันสมัย หรือเหมาะที่จะใช้อ้างอิงหรือไม่
        3.พิจารณาว่าเอกสารนั้นเป็นเครื่องชี้นำในการศึกษาข้อมูลในเรื่องนั้น ๆ ได้หรือไม่   
        4.พิจารณาว่าเอกสารนั้นมีหนังสืออ้างอิงพอที่จะแนะแนวทางในการศึกษาข้อมูลในเรื่องนั้น ๆ ได้หรือไม่
        5.พิจารณาคัดเอาส่วนที่มีประโยชน์ของการวิจัยของตน
        6.ทำการศึกษาแบบวิเคราะห์ เช่น ดูความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องที่จะศึกษา ระหว่างส่วนต่าง ๆ ข้อความต่าง ๆ สมเหตุสมผลหรือไม่ ผู้เขียนแย้งตนเองหรือไม่ ข้อมูลได้มาอย่างไร เพียงพอหรือไม่ น่าเชื่อถือหรือไม่ ข้อสรุปมีเหตุผลน่าเชื่อถือหรือไม่ เป็นต้น


หลักการเขียน เอกสารที่เกี่ยวข้อง
        1. เสนอแนวคิดตามทฤษฎี แบ่งเป็นหัวข้อใหญ่และหัวข้อย่อยลงไป (ไม่ควรนำเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยมาเขียนไว้)
        2. อธิบายปัญหาหรือสถานการณ์ที่ยังมีข้อสงสัย และความรู้ที่เป็นปัจจุบันในหัวข้อที่วิจัย
        3. ต้องเขียนอ้างอิง ( ชื่อคน/ชื่อหนังสือ . ปี : หน้า)


ข้อเสนอแนะเรื่อง เอกสารที่เกี่ยวข้อง
        1. การเลือกเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้ดูจาก - ชื่อเรื่อง - จุดมุ่งหมาย- ขอบเขต(ตัวแปร) - เครื่องมือ,นวัตกรรม,เทคโนโลยีที่เราใช้
        2. เลือกเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง
        3. คำพูดที่ไม่สามารถนำมาสรุปแล้วสละสลวยเหมือนของเดิมให้ใส่เครื่องหมาย “...ข้อความ...”และบอกอ้างอิงด้วย
        4. เรียงลำดับความสำคัญ เช่น 1) หลักสูตร 2) สื่อ
        5. การพูดถึงหลักสูตร ต้องมี- โครงสร้าง-สาระ-มาตรฐาน-ประเมินผลอย่างไร
        6. การพูดถึงสื่อ ต้องมี - ความหมาย - ประโยชน์ - ประเภท - การออกแบบ- การใช้ - การประเมิน
        7. การประเมินผลสื่อ - คุณภาพสื่อ - ดัชนีประสิทธิภาพ - ดัชนีประสิทธิผล - ความเชื่อมั่น
        8. ถ้าเป็นงานวิจัยประเภทพัฒนาต้องมี เครื่องมือ (แบบวัดต่างๆ)
           - คิดวิเคราะห์ - คิดวิจารณญาณ



7. การทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง


        เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผลการวิจัยสื่อที่นำมาศึกษาวิจัยและพัฒนาหรือนำมาเปรียบเทียบ หรือประเมินผล ที่ได้จากการผลิตสื่อ สถาบันที่เข้าไปใช้ในการวิจัย เนื้อหาในหลักสูตร ความหมาย ประเภทและรูปแบบ ประโยชน์และคุณค่าของการวิจัย

        งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เป็นส่วนของงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ



ประโยชน์ของการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง


        1.ช่วยให้เข้าใจทฤษฎี แนวความคิด ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่วิจัย
        2.ช่วยป้องกันการทำวิจัยซ้ำซ้อนกับคนอื่นที่วิจัยไปแล้ว
        3.ช่วยให้เราทราบผลงานวิจัยที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกับเรื่องที่วิจัยว่ามีการศึกษากว้างขวางมากน้อยแค่ไหน ในแง่มุมใด ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่จะนำมาประกอบเหตุผล ในการตั้งสมมติฐานของผู้วิจัยและนำมาประกอบเหตุผลในการอภิปรายผลการวิจัย
        4.เป็นแนวทางในการดำเนินการวิจัย เลือกตัวแปรที่จะศึกษา ออกแบบการวิจัย สร้างเครื่องมือ วิเคราะห์ข้อมูล แปลผล สรุปผล และเขียนรายงานการวิจัย
        5.เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของเรื่องที่จะทำวิจัย เพราะในการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยอย่างกว้างขวางจริงจัง จะช่วยให้เข้าใจในเรื่องที่จะศึกษาอย่างลุ่มลึก ในการศึกษาผลงานวิจัยต่าง ๆ ทำการพิจารณาถึงจุดอ่อนและจุดดีของแต่ละเรื่อง แล้วหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดจุดอ่อนและเสริมสร้างจุดดีเหล่านั้นให้เกิดขึ้นในการวิจัยของตน




ขั้นตอนการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
        ขั้นแรก อ่านราบละเอียดตั้งแต่ต้นจนจบ ให้รู้เรื่องทั้งหมด
        ขั้นที่สอง วิเคราะห์เรื่องที่อ่าน โดยจับประเด็นใหญ่ๆมาสรุปเป็นตาราง ดังนี้

              ก. ปัญหาวิจัย วัตถุประสงค์ สมมติฐาน

              ข. รูปแบบการวิจัย ขนาดตัวอย่าง ตัวแปรที่สำคัญ
              ค. เครื่องมือวัดวิธีเก็บข้อมูล วิธีวิเคราะห์ข้อมูล
              ง. ผลการวิจัย

         ขั้นที่สาม เขียนเรียบเรียงงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเรียบเรียงเรื่องที่อ่านในขั้นที่สองให้ต่อเนื่องกัน ลักษณะของความต่อเนื่องอาจพิจารณาได้หลายลักษณะ ลักษณะที่สำคัญและพบมากในการเขียนรายงานวิจัยลงในวารสารวิชาการ ก็คือ ลักษณะการต่อเนื่องของผลการวิจัยและตัวแปรสำคัญๆที่มีบทบาทต่อผลการวิจัย สำหรับหัวข้ออื่นๆที่จะนำมาเขียนขึ้นอยู่กับว่า ผู้วิจัยต้องการนำประเด็นนั้นมาเกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่จะทำมากน้อยแค่ไหน เช่น ขนาดของตัวอย่าง หรือวิธีสุ่มตัวอย่าง เครื่องมือวัด หรือแบบการทดลอง เป็นต้น


หลักในการเขียนเรียบเรียงงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
        1. การเขียนเรียบเรียงงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ให้เลือกเอาเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่จะศึกษาจริงๆ เท่านั้นมาเขียน
        2. การเขียนเรียบเรียงต้องเน้นในลักษณะของการเชื่อมโยง และความต่อเนื่องของเนื้อหาในประเด็นที่เป็นปัญหาการวิจัย ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญมากกว่าที่จะเขียนในลักษณะเรียงต่อเนื่องกันตามระยะ เวลาก่อนหลังของผู้ที่ศึกษาวิจัย และจุดอ่อนข้อนี้มักจะพบบ่อยๆในรายงานวิจัยทั่วๆไป คือ จะเอางานวิจัยของแต่ละคนมาเรียงต่อกันตามระยะเวลาก่อนหลังที่ทำการวิจัยใน แต่ละย่อหน้าไปเลย โดยไม่ได้มีการเชื่อมโยงในเนื้อหาที่สำคัญๆแต่อย่างใด
        3. ต้องมีการเขียนสรุปในตอนท้ายด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ข้อความขาดตอนทิ้งค้างไว้เฉยๆ ข้อความที่สรุปจะเป็นส่วนเชื่อมโยงระหว่างการวิจัยที่ศึกษามาแล้วกับงาน วิจัยที่จะศึกษานี้นั้นมันเกี่ยวข้องกันอย่างไร ถ้าไม่สามารถสรุป เพื่อชี้จุดตรงนี้ให้เห็นได้ การทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่ทำมาแล้ว ก็แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย แนวทางของการเขียนสรุปสามารถเขียนได้ในหลายลักษณะขึ้นอยู่กับประเด็นสำคัญ ๆ ที่ได้จากการอ่านเอกสารและรายงานนั่นเอง